การจัดการเรียนการสอนเพื่อสนับสนุนการจัดการเรียนรู้แบบการลงมือกระทำ (Active Learning)

การจัดการเรียนการสอนเพื่อสนับสนุนการจัดการเรียนรู้แบบการลงมือกระทำ สามารถสร้างให้เกิดขึ้นได้ทั้งในและนอกห้องเรียน รวมทั้งสามารถใช้ได้กับผู้เรียนทุกระดับ ทั้งการเรียนรู้เป็นรายบุคคล การเรียนรู้แบบกลุ่มเล็ก และการเรียนรู้แบบกลุ่มใหญ่ (McKinney and Heyl, 2008) รูปแบบการจัดกิจกรรมการเรียนรู้จะช่วยให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้แบบ Active Learning ได้เป็นอย่างดี

active-learning2

เห็นคำว่า “การเรียนรู้แบบการลงมือกระทำ  (Active Learning)”  กำลังอยู่ในกระแสของวงการศึกษาบ้านเรา แล้วที่เขาพูดๆ กันมันเป็นอย่างไรหว่า ทำให้หลายคนสงสัย วันนี้ก็เลย นำเรื่องนี้มาเล่าให้ฟังให้พอเห็นแนวทางในการนำไปประยุกต์ใช้ในการจัดการเรียนการสอนในบ้านเราครับ

ซึ่งคำว่า “การเรียนรู้แบบการลงมือกระทำ  (Active Learning)” เกิดขึ้นมานานพอสมควรแล้วถ้านึกไม่ออกก็ให้นึกถึงคำว่า”Learning by Doing” ที่หมายถึง การลงมือทำของผู้เรียนได้กระทำสิ่งต่างๆ ด้วยตนเอง ผ่านการปฏิบัติการจริง โดยที่ ผู้เรียนได้ฝึกในสภาพสิ่งแวดล้อมจริง ได้ฝึกคิดและลงมือทำสิ่งต่างๆ ด้วยตนเอง มีพัฒนาการมาจาก ทฤษฎีการสร้างความรู้ด้วยตนเอง (Constructivist Theory) อันโด่งดังนั้นเอง

กล่าวโดยสรุปได้ว่า วิธีการเรียนการสอนแบบนี้จะเปิดโอกาสให้ผู้เรียนได้แสดงออกและทำกิจกรรมต่างๆ ที่ผู้เรียนสนใจและลงมือทำได้ตามความถนัดของตนเอง เพราะแนวคิดนี้เชื่อว่า “ความสนใจมันเริ่มจากจินตนาการ” ทำให้ผู้เรียนอยากจะสร้างงานใหม่ๆ ที่เป็นของตนเอง ทำให้เกิดสิ่งที่เรียกว่า “องค์ความรู้” ขึ้นมาจากสิ่งที่ได้เรียนรู้ด้วยตนเอง ผ่านกระบวนการดูแลจากผู้สอน เพื่อให้ผู้เรียนสามารถทำการต่อยอดขององค์ความรู้ที่มีอยู่กับตัวเอง และความรู้ใหม่ที่ได้รับ ที่เรียกกันติดปากว่ากระบวน “การสร้างองค์ความรู้” ด้วยตนเองยังไงละครับ คุ้นหูหรือยัง

ดังนั้น“การเรียนรู้แบบการลงมือกระทำ  (Active Learning)” เปรียบได้กับกระบวนการจัดการป้อน”ความรู้” ที่เป็นขั้นเป็นตอน สำหรับผู้เรียน ที่ไม่ใช่เพียงแค่การเอาความรู้ไปให้ผู้เรียน “โดยที่พวกเค้าไม่ได้คิด ไม่ได้ทำ ไม่ได้ชอบ หรือได้มีส่วนร่วม” ในกิจกรรมการเรียนรู้นั้นๆ เลย

หากยังนึกไม่ออกให้ท่านลองนึกถึง  การที่มีคนมา “บังคับให้ท่านกินก๋วยเตี๋ยวร้อนๆ แบบไม่ให้ปรุงรสอะไรเลย” แถมยัง “บังคับให้ต้องกินทั้งหมดห้ามเหลืออยู่ในถ้วย” ที่ร้ายไปกว่านั้นยังแถมการ “บังคับให้ห่อกลับไปกินที่บ้านอีกต่างหาก” กินก๋วยเตี๋ยวทั้งที่ร้อนๆ และไม่ชอบ ท่านจะรู้สึกอย่างไร?

แต่ถ้าท่านมองในมุมการเรียนการสอนโดยเปิดให้ผู้เรียนได้รับโอกาสให้ได้ เตรียมเครื่องทำก๋วยเตี๋ยว ได้หั่นผัก ได้ลวกเส้นก๋วยเตี๋ยว ได้เลือกขนาดของเส้นก๋วยเตี๋ยว เลือกได้ว่าจะได้กิน กุ้ง หมู เนื้อ หรือไก่ “เมื่อผู้เรียนสามารถนำทุกอย่างมาผสมกันและทำได้เป็นชามออกมา” ท่านคิดว่าเขาจะจำได้และภูมิใจไหม?

แถมผู้เรียนยังได้ปรุงรส ก่อนกินได้ตามต้องการ “เพื่อนๆในกลุ่มได้มีโอกาสมาชิมและชื่นชมว่าอร่อยมากๆ” ท่านคิดว่า หัวใจของผู้เรียนจะพองโตไหมครับ?

แน่นอน “ผู้เรียนจะต้องสามารถทำก๋วยเตี่ยวได้”  “รู้ทุกอย่างเกี่ยวกับก๋วยเตี๋ยว” เผลอๆ “คิดค้นสูตรการทำก๋วยเตี๋ยวแบบใหม่” ที่ไม่ซ้ำกับใครเลยก็ได้ ใครจะไปรู้ครับ  นี่เป็นแค่การยกตัวอย่างเพียงเท่านั้นครับ แต่ในการจัดการเรียนการสอนจริงๆ ต้องมีองค์ประกอบอีกมากพอสมควรที่ผู้สอนจะต้องนำไปคิด และออกแบบการสอนครับ

มาดูกันครับว่า “การเรียนรู้แบบการลงมือกระทำ  (Active Learning)” สามารถออกแบบกิจกรรมอะไรได้บ้าง

การเรียนรู้แบบแลกเปลี่ยนความคิด (Think-Pair-Share) คือ การจัดกิจกรรมการเรียนรู้ที่ให้ผู้เรียนคิดเกี่ยวกับประเด็นที่กำหนดคนเดียว 2-3 นาที (Think) จากนั้นให้แลกเปลี่ยนความคิดกับเพื่อนอีกคน 3-5 นาที (Pair) และนำเสนอความคิดเห็นต่อผู้เรียนทั้งหมด (Share)

ตัวอย่างสรุปการเรียนรู้แบบแลกเปลี่ยนความคิด (Think-Pair-Share)

ตัวอย่างกิจกรรมการเรียนรู้แบบแลกเปลี่ยนความคิด (Think-Pair-Share)

การเรียนรู้แบบร่วมมือ (Collaborative learning group) คือ การจัดกิจกรรมการเรียนรู้ที่ให้ผู้เรียนได้ทำงานร่วมกับผู้อื่น โดยจัดกลุ่มๆ ละ 3-6 คน

ตัวอย่างการเรียนรู้แบบร่วมมือ (Collaborative learning group)

การเรียนรู้แบบทบทวนโดยผู้เรียน (Student-led review sessions) คือ การจัดกิจกรรมการเรียนรู้ที่เปิดโอกาสให้ผู้เรียนได้ทบทวนความรู้และพิจารณาข้อสงสัยต่างๆ ในการปฏิบัติกิจกรรมการเรียนรู้ โดยผู้สอนจะคอยช่วยเหลือกรณีที่มีปัญหา

ตัวอย่างการเรียนรู้แบบทบทวนโดยผู้เรียน (Student-led review sessions)

การเรียนรู้แบบใช้เกม (Games) คือ การจัดกิจกรรมการเรียนรู้ที่ผู้สอนนำเกมเข้าบูรณาการในการเรียนการสอน ซึ่งใช้ได้ทั้งในขั้นการนำเข้าสู่บทเรียน การสอน การมอบหมายงานและหรือขั้นการประเมินผล

ตัวอย่างการเรียนรู้แบบใช้เกม (Games)

การเรียนรู้แบบวิเคราะห์วีดีโอ (Analysis or reactions to videos) คือ การจัดกิจกรรมการเรียนรู้ที่ให้ผู้เรียนได้ดูวีดีโอ 5-20 นาที แล้วให้ผู้เรียนแสดงความคิดเห็น หรือสะท้อนความคิดเกี่ยวกับสิ่งที่ได้ดู อาจโดยวิธีการพูดโต้ตอบกัน การเขียน หรือ การร่วมกันสรุปเป็นรายกลุ่ม

ตัวอย่างการเรียนรู้แบบวิเคราะห์วีดีโอ (Analysis or reactions to videos)

การเรียนรู้แบบโต้วาที (Student debates) คือ การจัดกิจกรรมการเรียนรู้ที่จัดให้ผู้เรียนได้นำเสนอข้อมูลที่ได้จากประสบการณ์และการเรียนรู้ เพื่อยืนยันแนวคิดของตนเองหรือกลุ่ม

ตัวอย่างการเรียนรู้แบบโต้วาที (Student debates)

การเรียนรู้แบบผู้เรียนสร้างแบบทดสอบ (Student generated exam questions) คือ การจัดกิจกรรมการเรียนรู้ที่ให้ผู้เรียนสร้างแบบทดสอบจากสิ่งที่ได้เรียนรู้มาแล้ว

ตัวอย่างการเรียนรู้แบบผู้เรียนสร้างแบบทดสอบ (Student generated exam questions)

การเรียนรู้แบบกระบวนการวิจัย (Mini-research proposals or project) คือ การจัดกิจกรรมการเรียนรู้ที่อิงกระบวนการวิจัย โดยให้ผู้เรียนกำหนดหัวข้อที่ต้องการเรียนรู้ วางแผนการเรียน เรียนรู้ตามแผน สรุปความรู้หรือสร้างผลงาน และสะท้อนความคิดในสิ่งที่ได้เรียนรู้ หรืออาจเรียกว่าการสอนแบบโครงงาน (project-based learning) หรือ การสอนแบบใช้ปัญหาเป็นฐาน (problem-based learning)

ตัวอย่างการเรียนรู้แบบกระบวนการวิจัย (Mini-research proposals or project)

การเรียนรู้แบบกรณีศึกษา (Analyze case studies) คือ การจัดกิจกรรมการเรียนรู้ที่ให้ผู้เรียนได้อ่านกรณีตัวอย่างที่ต้องการศึกษา จากนั้นให้ผู้เรียนวิเคราะห์และแลกเปลี่ยนความคิดเห็นหรือแนวทางแก้ปัญหาภายในกลุ่ม แล้วนำเสนอความคิดเห็นต่อผู้เรียนทั้งหมด

ตัวอย่างการเรียนรู้แบบกรณีศึกษา (Analyze case studies)

การเรียนรู้แบบการเขียนบันทึก (Keeping journals or logs) คือ การจัดกิจกรรมการเรียนรู้ที่ผู้เรียนจดบันทึกเรื่องราวต่างๆ ที่ได้พบเห็น หรือเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในแต่ละวัน รวมทั้งเสนอความคิดเพิ่มเติมเกี่ยวกับบันทึกที่เขียน

ตัวอย่างการเรียนรู้แบบการเขียนบันทึก (Keeping journals or logs)

การเรียนรู้แบบการเขียนจดหมายข่าว (Write and produce a newsletter) คือ การจัดกิจกรรมการเรียนรู้ที่ให้ผู้เรียนร่วมกันผลิตจดหมายข่าว อันประกอบด้วย บทความ ข้อมูลสารสนเทศ ข่าวสาร และเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น แล้วแจกจ่ายไปยังบุคคลอื่นๆ

ตัวอย่างการเรียนรู้แบบการเขียนจดหมายข่าว (Write and produce a newsletter)

การเรียนรู้แบบแผนผังความคิด (Concept mapping) คือ การจัดกิจกรรมการเรียนรู้ที่ให้ผู้เรียนออกแบบแผนผังความคิด เพื่อนำเสนอความคิดรวบยอด และความเชื่อมโยงกันของกรอบความคิด โดยการใช้เส้นเป็นตัวเชื่อมโยง อาจจัดทำเป็นรายบุคคลหรืองานกลุ่ม แล้วนำเสนอผลงานต่อผู้เรียนอื่นๆ จากนั้นเปิดโอกาสให้ผู้เรียนคนอื่นได้ซักถามและแสดงความคิดเห็นเพิ่มเติม

ตัวอย่างการเรียนรู้แบบแผนผังความคิด (Concept mapping)

กิจกรรมดังกล่าวเป็นเพียงตัวอย่างการเรียนการสอนเท่านั้นครับ ส่วนใหญ่ที่หาได้จะเป็นของต่างประเทศ ซึ่งอาจตรงบ้างเป็นบางส่วน

ดังนั้นถ้าหากทุกท่านอยากให้การจัดกิจกรรมการเรียนการสอนแบบ “การเรียนรู้แบบการลงมือกระทำ  (Active Learning)” ประสบผลสำเร็จกับเด็กนักเรียนในประเทศไทยของเรา คงต้องฝากความหวังไว้ในห้องเรียนของท่านแล้วละครับ ว่าท่านต้องการให้กิจกรรมการเรียนการสอนของท่านพัฒนานักเรียน ไปในแนวทางอย่างที่ผมได้ยกตัวอย่างไว้หรือเปล่าครับ  เพราะประเทศไทยของเรากำลังก้าวเข้าสู่ยุคแห่งการเปลี่ยนแปลงประเทศไปเป็น  “ประเทศไทย 4.0” หรือ “ไทยแลนด์ 4.0” ที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้วยนวัตกรรม ฝากไว้ให้ทุกท่านคิดต่อครับ

ดร.อนุศร  หง๋ษ์ขุนทด

 

อ้างอิง

McKinney, K. and B.S. Heyl.  2008.  Sociology through Active Learning: Student   Exercises. Pine Forge Press.

อนุศร หงษ์ขุนทด.  (2558). “การพัฒนารูปแบบระบบการเรียนแบบห้องเรียนกลับด้านผ่านสื่อ 3 แบบ ด้านทักษะดนตรี สำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษา”.  วิทยานิพนธ์ปริญญาดุษฎี บัณฑิต สาขาเทคโนโลยีและสื่อสารการศึกษา บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (76-77)

 

 

ใส่ความเห็น